Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เมื่อลูกเป็นเด็กพิเศษ พ่อแม่ควรเลือกกิจกรรมเสริมทักษะอย่างไร

Posted By Plook TCAS | 11 ส.ค. 66
511 Views

  Favorite

         คำว่า “ลูก” มีความหมายสำหรับคุณพ่อคุณแม่เสมอ แม้ว่าบางครอบครัวอาจจะมีลูกที่เป็น “เด็กพิเศษ”  แต่นั่นไม่ได้ทำให้ความรักของคุณพ่อคุณแม่ลดน้อยลงเลย ตรงกันข้าม กลับยิ่งต้องเพิ่มความรักและการดูแลเป็นพิเศษ เพื่อให้เจ้าตัวน้อยเป็นเด็กพิเศษที่พิเศษที่สุดของครอบครัว

         “เด็กพิเศษ” หรือ “เด็กที่มีความต้องการพิเศษ” หมายถึง เด็กที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษ เนื่องจากความบกพร่องหรือข้อจำกัดทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ประสาทสัมผัส อารมณ์ และสังคม รวมถึงการได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางสภาพแวดล้อม อันเป็นเหตุให้เด็กมีข้อจำกัดหรืออุปสรรคต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต หรือการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทางสังคมให้สำเร็จตามบทบาทปกติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของความบกพร่องหรือข้อจำกัดนั้น ๆ

         ในฐานะของคนเป็นพ่อเป็นแม่ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการเลี้ยงดูลูกน้อยให้เติบโตอย่างดีที่สุด ช่วยให้ลูกมีความสุขที่สุด และสามารถช่วยเหลือดูแลตัวเองได้  ดังนั้นเมื่อเราเป็นคนที่ใกล้ชิดลูกมากที่สุด เราจึงเป็นคนที่รู้จุดแข็งที่ควรส่งเสริม และรู้จุดอ่อนที่ต้องช่วยพัฒนาให้ลูก สัมผัสได้ถึงลักษณะเฉพาะตัวบางเรื่องของลูกที่อาจพิเศษเหนือกว่าเด็กในวัยเดียวกัน โดยการสังเกตพฤติกรรมและความสามารถ เช่น ลูกเราเป็นเด็กพิเศษที่เรียนรู้ช้ากว่าเด็กปรกติ แต่วาดรูปเก่งหรือคิดเลขเก่งหรือร้องเพลงไพเราะ หรือชอบเล่นกีฬาและทำได้ดี เป็นต้น เราจึงต้องให้การสนับสนุนในการเรียนรู้ตามที่ลูกชอบ ถนัด และมีความสุขในการกระทำ และให้ความสำคัญกับความสามารถเด่นของลูก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกว่าลูกทำได้ โดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับลูกของคนอื่น

         นอกจากการเรียนในโรงเรียนแล้ว เราสามารถเลือกกิจกรรมเสริมทักษะให้ลูกเด็กพิเศษของเราได้ โดยใช้วิธีการเลือกที่เหมาะสมกับลูกคือ

 

1. จับสังเกต มองหา และมองให้เห็นความสนใจ ความสามารถของลูก

         ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน คือจัดกิจกรรมให้ลูกตามความพอใจของลูก เพราะลูกคือผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรง หากลูกชอบลูกจะทำได้ดี ข้อสำคัญ อย่าบังคับหรือยัดเยียด ยิ่งเด็กพิเศษบางคน มีพฤติกรรมกรีดร้อง นอนดิ้น ทำลายข้าวของ ยิ่งต้องใช้ความใจเย็น เรียนรู้ ทำความรู้จักลูกในเชิงลึก เด็กพิเศษแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันไป ดังนั้นพ่อแม่จะต้องมองหาลักษณะเฉพาะของลูกเราให้เจอ เช่น ลูกชอบเต้น ก็ให้ฝึกการเต้นตามเพลงสนุก ๆ ลูกชอบร้องเพลงหรือเล่นดนตรี ก็ส่งเสริมโดยอาจให้ลูกเรียนคอร์สพิเศษเพิ่มเติม จัดซื้อเครื่องดนตรีให้ลูกได้ฝึกซ้อม การฝึกทักษะทางดนตรีช่วยพัฒนาสมรรถภาพทางการแสดงและการรับฟัง หรือลูกสนใจงานศิลปะและงานฝีมือ เราก็จัดหาอุปกรณ์วาดรูปหรืออุปกรณ์เย็บปักถักร้อย หรืออุปกรณ์งานประดิษฐ์ที่ลูกอยากทำ หาครูมาสอนและอาจจัดกลุ่มให้ลูกเรียนกับเพื่อน ๆ ที่ชอบอย่างเดียวกันได้ การเรียนร่วมกันเป็นกลุ่มทำให้ลูกสนุก เพลิดเพลิน เป็นการเพิ่มทักษะการเข้าสังคม และการเรียนรู้แบบเป็นกลุ่ม

         สิ่งสำคัญคือ อย่ากังวลถ้าหากลูกของเราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้แล้ว ก็อาจจะไม่สนใจสิ่งนั้น แล้วหันไปหาสิ่งอื่นแทน ความสนใจของลูกที่เป็นเด็กพิเศษอาจจะสั้นกว่าเด็กทั่วไป แต่นั่นไม่ได้แปลว่า เขาจะไม่มีโอกาสเจอสิ่งที่เขาสนใจจริง ๆ ขอเพียงแค่คุณพ่อคุณแม่อย่าถอดใจในการตามหาสิ่งนั้น

 

2. สนับสนุนการเรียนรู้ของลูกด้วยการอ่านและการเล่น แบบยืดหยุ่น และเน้นความสุข

         เราอ่านหนังสือดีมีประโยชน์ให้ลูกฟัง เช่นหนังสือนิทาน นิทานภาพ การที่ลูกได้เห็น หยิบจับสัมผัสหนังสือ และฟังเรื่องราวแสนสนุก ทำให้ลูกมีสมาธิ ใจสงบเยือกเย็น อยู่นิ่งขึ้น เมื่อเราอ่านจบแล้ว อาจถามคำถามง่าย ๆ เพื่อให้ลูกจดจำเนื้อหาได้บ้าง สามารถเล่าถ่ายทอด หรือแต่งเติมเสริมต่อตามจินตนาการของลูกน้อย และกระตือรือร้นที่จะได้ฟังนิทานสนุกอยู่เรื่อย ๆ โดยไม่เบื่อหน่าย การเล่นเกมสนุก ๆ หรือของเล่นที่ให้ความรู้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเสริมทักษะด้านความคิดแบบสร้างสรรค์และการเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น การต่อหุ่นยนต์หรือเลโก้ การเล่นรถไฟที่ต้องใช้การประกอบชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน เกมเล่นกับตัวอักษรช่วยพัฒนาทักษะทางภาษาให้ลูกได้ หรือการเล่นแทปเล็ต/โทรศัพท์มือถือที่เราตั้งค่าไว้ ให้ลูกเปิดดูคลิปเรื่องที่เป็นประโยชน์ได้เอง เช่น สอนการเต้น การกินอาหารและผักซึ่งลูกอาจไม่ชอบกิน แต่เมื่อดูคลิปซึ่งตัวละครถ่ายทอดเชิญชวนได้สนุก ลูกอาจเปลี่ยนวิธีคิดและยอมทำตามมากกว่าที่จะฟังเราสอน เป็นการใช้เทคโนโลยีสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ให้ลูกได้ใช้ประโยชน์ในกิจวัตรของตนเอง

         ข้อควรระวังคืออารมณ์ของตัวเอง เพราะเด็กพิเศษเวลาที่เราต้องการให้ความรู้หรือสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ลูก อาจจะต้องทำอย่างช้า ๆ ซ้ำ ๆ เด็กอาจจะลืม ละเลย หรือใจลอย ตาลอยไม่ได้สนใจเรียนรู้ ต้องมีวิธีดึงความสนใจ สร้างความสนุก และอดทนที่จะรอคอยพัฒนาการของลูกอย่างใจเย็น

 

3. สนับสนุนให้ลูกมีการเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อกระตุ้นการพัฒนาสมอง

         กิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายช่วยให้ลูกพัฒนาสมองได้อย่างดียิ่ง ทำให้เลือดไหลเวียนทั่วร่างกาย กระปรี้กระเปร่า สุขภาพกายใจสมบูรณ์แข็งแรง จิตใจร่าเริงแจ่มใส ให้ลูกได้เล่นออกกำลังกาย ขี่จักรยานในลานกีฬาใกล้บ้าน เล่นฟุตบอล ว่ายน้ำ พาลูกเดินเล่นในสวนสาธารณะ พร้อมกับชี้ชวนให้ลูกเห็นประโยชน์ของการเดินและการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อสุขภาพ เที่ยวชมสวนสัตว์สวนสนุก เยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้และงานนิทรรศการต่าง ๆ สำหรับเด็ก เดินทางท่องเที่ยวตลาดน้ำเพื่อเรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทย หรือไปพักผ่อนที่ต่างจังหวัดหรือเที่ยวทะเลกับครอบครัวในวันหยุด เพื่อสร้างโอกาสให้ลูกเด็กพิเศษของเราสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและสนุกได้ ซึ่งลูกจะตื่นตาตื่นใจและกระตือรือร้นกับการเรียนรู้แบบอิสระ

 

4. ฝึกทักษะการเรียนรู้เชิงสังคมให้ลูก

         เด็กพิเศษหลาย ๆ คน มักมีอาการร่วมที่คล้ายกัน คือทักษะในการเข้าสังคม หลายครอบครัวเป็นห่วงลูก กลัวถูกรังแก ถูกกลั่นแกล้ง หรืออาจกังวลว่าเวลาพาลูกไปออกสังคมแล้ว บางครั้งลูกอาจจะควบคุมตัวเองไม่ได้ (ในบางราย) อาจจะมีอาการปัดสิ่งของที่อยู่รอบตัว อาจกรี๊ดเสียงดัง อาจดูกดดันไม่สบายกายใจ กระสับกระส่าย เลยเลือกที่จะเก็บลูกไว้ในบ้าน เป็น Save Zone ที่คิดว่าลูกจะปลอดภัยที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้ว น้อง ๆ เด็กพิเศษสามารถมีวันที่สดใส มีสังคม มีกิจกรรมที่มีความสุขได้มากมาย เช่น ในวันคล้ายวันเกิดของลูกหรือวันสำคัญบางวัน ชวนลูกไปบริจาคเงินหรือสิ่งของ หรือนำอาหารไปเลี้ยงเด็กที่สถานสงเคราะห์ เพื่อฝึกลูกให้รู้จักการทำบุญ การแบ่งปัน การช่วยเหลือ การให้ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การมีความอดทน รวมทั้งฝึกลูกให้เรียนรู้การมีทักษะการสื่อสารที่เหมาะสม เนื่องจากเด็กพิเศษจำเพาะบางกลุ่ม อาจต้องใช้ภาษาในการสื่อสารต่างไปจากลูกของเรา เช่นการใช้ภาษามือ หรือสื่อความกันด้วยภาษาเขียน ลูกจะได้เห็นและได้เรียนรู้ความต่างของการสื่อสารกับผู้อื่น การปรับตัวและการรู้จักการรับฟัง ซึ่งจะช่วยให้ลูกเติบโตและสามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัวได้

         ความพยายามของเราที่ทุ่มเทเพื่อต้องการพัฒนาลูกเด็กพิเศษ ให้เติบโตและพัฒนาได้ใกล้เคียงกับเด็กปรกติ อาจต้องใช้เวลานานในการบ่มเพาะ เราจึงต้องเข้มแข็ง มานะ อดทน และบากบั่น เพราะความรักและการสนับสนุนจากครอบครัวเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาของลูก ช่วยให้ลูกมีความเชื่อมั่นและพัฒนาทักษะต่าง ๆ ได้เต็มตามความสามารถ เราต้องสร้างบรรยากาศให้เชื่อมโยงกับการเรียนรู้และความสนุกสนาน เพื่อช่วยให้ลูกพัฒนาทักษะทุกด้านด้วยกิจกรรมที่เราจัดสรรให้ได้อย่างเต็มที่ และสิ่งสำคัญคือเราต้องให้กำลังใจทั้งแก่ตัวเราเองและลูก เพื่อเราจะได้ move on ความพยายามของเราอย่างต่อเนื่อง และเพื่อลูกจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดูแลตนเองได้ตามความเหมาะสม และดำรงตนอยู่ได้รอดปลอดภัยในสังคม

                                                                                                                          

ณัณท์

 

ข้อมูลประกอบบทความ

เด็กที่มีความต้องการพิเศษ – Children with special needs

https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/children-with-special-needs

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow